วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง บนพรมแดนไทย – ลาวตอนบน


ชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ

          จากงานวิจัยจาวบ้านสำรวจพบว่า แม่น้ำโขงพรมแดนไทย – ลาวตอนบนตั้งแต่แก่งคอนผีหลงไปจนถึงแก่งผาได มีพันธุ์ปลาทั้งหมด ๙๖ ชนิด ตะพาบน้ำ ๑ ชนิด และกุ้ง ๒ ชนิด คือ กุ้งฝอยและกุ้งใหญ่
          อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงในช่วงดังกล่าวมีมากกว่านี้ เพราะการศึกษานี้ไม่ได้เน้นศึกษาปลาในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีกทั้งปลาที่สำรวจพบส่วนใหญ่เป็นปลาที่กินได้ และใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อจับปลาเหล่านี้เป็นหลัก จึงอาจจะทำให้ไม่ได้ปลาชนิดอื่นๆ ที่เครื่องมือพื้นบ้านจับไม่ได้ หรือเป็นปลาที่กินไม่ได้ นอกจากนั้นระยะเวลาที่ทำการศึกษาไม่ครบรอบปี คือเริ่มงานวิจัยตั้งแต่เดือนสิงหาคมเสร็จสิ้นเดือนมิถุนายน พันธุ์ปลาที่บันทึกได้จึงมีจำนวนตามที่กล่าวมาแล้ว

ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์

          งานวิจัยจาวบ้านพบว่า ปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย – ลาวตอนบน มีพันธุ์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด ๑๓ ชนิด ได้แก่ ปลาบึก ปลาเอินหรือปลาเสือ ปลาเลิม ปลาสะนากปากบิด ปลาคูน ปลาปึ่ง ปลาฝาไม ปลาหว่าหัวคำ (นอ) ปลาหว่าแก้มแต้ม ปลากะ ปลาทราย และปลาเซือม
         นักวิจัยจาวบ้านจัดให้ปลาดังกล่าวเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากจับไม่ได้ในช่วง ๕-๓๐ ปีที่ผ่านมา โดยเป็นปลาที่จับไม่ได้ตั้งแต่ ๕ ปีย้อนหลัง ๓ ชนิด คือ ปลาบึก ปลาทราย และปลาฝาไม ส่วนปลาที่จับไม่ได้ตั้งแต่ ๑๐-๓๐ ปีย้อนหลัง ๙ ชนิด คือ ปลาเอินหรือปลาเสือ ปลาเลิม ปลาสะนากปากบิด ปลาเซือม ปลาคูน ปลาปึ่ง ปลาหว่าหัวคำ (นอ) ปลาหว่าแก้มแต้ม ปลากะ
         ส่วนปลาเอี่ยนหู หรือตูหนาหูขาว เป็นปลาที่พบน้อยมาก ชาวบ้านไม่รู้จักปลาชนิดนี้และเชื่อว่าเป็นปลาพญานาค ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ มีคนหาปลาจับได้ทั้งหมด ๔ ตัว น้ำหนักสูงสุด ๖ กิโลกรัม จากข้อมูลของดร.ชวลิต วิทยานนท์ ได้ระบุว่าปลาชนิดนี้วางไข่ในทะเลลึกระหว่างเวียดนานกับฟิลิปปินส์ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

ปลาต่างถิ่น

         สำหรับปลาต่างถิ่น ๑๐ ชนิด พบในแม่น้ำโขงเนื่องจากมีการปล่อยลงไปโดยกรมประมง เช่น ปลา จีน สวาย จาระเม็ด นวลจันทร์ เป็นต้น บางชนิดหลุดมาจากบ่อเลี้ยงในช่วงที่น้ำท่วมบ่อปลาของชาวบ้าน และมีการปล่อยลงแม่น้ำโขงและน้ำสาขาโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ปลาดูด เป็นต้น

ถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่ และแหล่งหากินของปลา

          งานวิจัยจาวบ้านพบว่าปลาธรรมชาติหรือปลาท้องถิ่น ๘๖ ชนิด เป็นปลาที่อยู่ตามแก่ง/ผา ๑๕ ชนิด ปลาอยู่กว๊าน ๑๕ ชนิด ปลาอยู่คก ๒๔ ชนิด ปลาอยู่ดอนในยามถูกน้ำท่วม ๙ ชนิด ปลาอยู่หาด ๒๐ ชนิด ปลาอยู่ร้อง ๖ ชนิด ปลาอยู่หลง ๘ ชนิด ปลาอยู่หนอง ๑๓ ชนิด ปลาอยู่แจ๋ม ๒ ชนิด ปลาอยู่น้ำสาขา/ห้วย ๕๑ ชนิด และปลาอยู่ริมฝั่งน้ำโขง ๕๗ ชนิด ปลาบางชนิดอยู่อาศัย หากินตามระบบนิเวศย่อยมากกว่า ๑ ระบบนิเวศ
          ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของปลา เพราะปลาบางชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่ง หากินอีกแห่งหนึ่ง และวางไข่อีกแห่งหนึ่ง
         สำหรับอาหารของปลานั้นพบว่าพืชที่ขึ้นตามระบบนิเวศต่างๆ ของแม่น้ำโขงที่สำรวจพบทั้งหมด ๕๕ ชนิด เป็นอาหารที่สำคัญของปลาพืชเหล่านี้จะมีตามธรรมชาติ บางชนิดขึ้นในช่วงน้ำลดพอถึงช่วงน้ำหลากก็จมน้ำ แต่พืชเหล่านี้มีความพิเศษที่สามารถอยู่ได้ทั้งน้ำลดน้ำหลาก เช่น ต้นไคร้ เครือนอดน้ำ ต้นดอกด้ายน้ำ บัวนางน้ำ เป้าน้อย มะเดื่อ อ้อ แขม ใบสา เป็นต้น พืชเหล่านี้เป็นอาหารของปลา รวมไปถึงเป็นแหล่งวางไข่ในช่วงน้ำหลาก เช่น ต้นไคร้
ปลาจะกินผลสุขหรือใบของต้นไม้ที่มีอยู่ตามเกาะแก่ง ริมฝั่ง ทั้งกินใบสดและใบเน่า นอกจากพืชแล้วปลายังกินไก ไครหิน และไครผาที่ขึ้นตามก้อนหินผาที่จมอยู่ใต้น้ำ
         ไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงนับเป็นอาหารที่สำคัญของปลา ไกจะขึ้นตามหาดทราย ดอน ร่องน้ำที่น้ำท่วมถึงกลางเกาะแก่ง ก้อนหิน ในช่วงปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงน้ำลดและน้ำใส นอกจากนั้นปลากินเนื้อยังออกหากินด้วยการล่าปลาขนาดเล็กบริเวณที่มีไกขึ้นอีกด้วย
          ปลาทั้งสองประเภททั้งที่กินพืชและกินเนื้อจะกินอาหารจำพวกแมลงต่างๆ เหมือนกัน เช่น แมงเม่า แมงมาย แมงแม้ และไส้เดือนที่เกิดตามสันดอน ริมฝั่ง แม่น้ำสาขา
          งานวิจัยพบว่า ปลาส่วนใหญ่จะเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา เพราะน้ำสาขามีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก น้ำโขงจะหนุนน้ำสาขาเข้าไป ประกอบกับน้ำที่ไหลมาจากน้ำสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมหลากเข้าไปในป่าริมสองฝั่งที่มีต้นไม้พงหญ้า เมื่อน้ำท่วมหลากนิ่งได้ระดับปลาก็จะวางไข่
          ปลาส่วนใหญ่จะอาศัยตามที่ที่มีต้นไม้ กอหญ้า ขอนไม้จมน้ำโดยรวมกลุ่มเป็นฝูงขนาดใหญ่หลากหลายชนิด และวางไข่บริเวณที่มีต้นไม้ พงหญ้า เพื่อให้ลุกปลาได้ใช้เป็นที่หลบภัย
อย่างไรก็ตามมีปลาจำนวนหนึ่งวางไข่ตามบริเวณดอนแม่น้ำโขง บริเวณที่มีต้นไคร้ขึ้นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ในช่วงที่น้ำหลากท่วม
         แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย – ลาวตอนบนที่มีต้นไคร้ขึ้นเป็นบริเวณกว้างและมีพื้นที่ขนาดใหญ่มีสองแห่งคือ บริเวณหาดแฮ่ใต้ปากน้ำงาวทางฝั่งลาวตรงข้ามบ้านเมืองกาญจน์ และแถบบริเวณคอนผีหลง
         การศึกษายังพบอีกว่ามีปลาที่ทำรังก่อนวางไข่และเลี้ยงลูก เช่น ปลาหลิม (ปลาก่อหรือปลาช่อน) ปลาก้วน ปลากั้ง ฯลฯ ปลาเหล่านี้จะเลี้ยงลูกหลังจากที่ฟักเป็นลูกอ่อนในช่วงที่เลี้ยงลูกจะดุร้าย คอยปกป้องลูกไม่ให้ปลาหรือสัตว์อื่นเข้ามาใกล้ฝูงลูกปลา

การอพยพของปลา

         การศึกษาของนักวิจัยจาวบ้านพบว่าปลาในแม่น้ำโขงตอนบนบริเวณพรมแดนไทย – ลาว มีพันธุ์ปลาธรรมชาติทั้งสิ้น๘๖ ชนิด แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นปลาอพยพจากตอนล่างในช่วงฤดูวางไข่ กลุ่มที่สองเป็นปลาประจำถิ่นที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี
         การศึกษายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ปลากลุ่มแรกเริ่มอพยพมาจากจุดไหนของแม่น้ำโขงทางตอนล่าง
สำหรับช่วงเวลาการอพยพ การศึกษาพบว่าปลาเริ่มอพยพขึ้นตั้งแต่เดือนที่ ๓ (มกราคม) ไปจนถึงเดือน ๘ (มิถุนายน) และอพยพจากน้ำสาขาลงสู่แม่น้ำโขงและจากแม่น้ำโขงตอนบนลงไปทางตอนล่างเริ่มตั้งแต่เดือน ๑๐ (สิงหาคม) ถึงเดือนยี่ (ธันวาคม) จะเห็นได้ว่าปลาแม่น้ำโขงที่มีการอพยพขึ้นไปทางตอนบนและอพยพเข้าน้ำสาขา มีการอพยพขึ้น-ลง ตลอดทั้งปีไม่เฉพาะช่วงฤดูฝนหรือช่วงน้ำขึ้นเท่านั้น

การอพยพขึ้น-ลงของปลา สามารถแบ่งได้ ๒ ลักษณะ มีรายละเอียดดังนี้
          ๑. การอพยพขึ้นไปวางไข่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง
          ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงทางตอนบนมีความหลากหลายของระบบนิเวศย่อย เช่น มีดอน (เกาะ) แก่ง ผา คก กว๊าน แจ๋ม หรือถ้ำหินใต้น้ำที่กระจายตัวอยู่ตลอดทั้งลำน้ำโขง เป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและวางไข่ของปลา
          การศึกษาพบว่ามีปลา ๒๐ ชนิด ที่เดินทางอพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำโขงตามแก่ง ผา คก กว๊าน แจ๋ม วังน้ำลึก และถ้ำใต้น้ำ เช่น ปลาบึก ปลาโมงยาง โมงอ๊อด ปลาแข้ และ ปลาสะโม่ เป็นต้น
สำหรับปลาบึกนั้น เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขง ปลาบึกอพยพขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และคาดว่าจะวางไข่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่บ้านเมืองกาญจน์ขึ้นไปจนถึงกว๊านบ้านแซว ส่วนการอพยพลงหรืออพยพกลับแม่น้ำโขงทางตอนล่างยังไม่มีใครทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าเป็นช่วงเวลาใด
          ๒. การอพยพขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา
          การศึกษาพบว่าปลาธรรมชาติทั้งหมด ๘๖ ชนิด เป็นปลาที่วางไข่ในแม่น้ำสาขามี ๖๖ ชนิด ปลาที่อพยพเข้าน้ำสาขาจะเดินทางขึ้นไปบริเวณที่เหมาะสมที่จะวางไข่ คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่น้ำสาขาไหลท่วมถึง ป่าริมน้ำ กอหญ้า ทั้งสองฝั่งตามน้ำตื้น ที่มีระดับน้ำความลึกประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร เมื่อน้ำนิ่งทรงตัวจนได้ระดับปลาก็จะผสมพันธุ์วางไข่ เมื่อวางไข่เสร็จก็จะอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ของน้ำสาขา
          นักวิจัยจาวบ้านปากอิงระบุว่าแม่น้ำสาขาจะมีอุณหภูมิของน้ำอุ่นกว่าแม่น้ำโขง และด้วยระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยของแม่น้ำสาขาในช่วงที่น้ำท่วมหลากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ปลาจากแม่น้ำโขงที่อาศัยในน้ำที่มีความเย็นมากกว่าก็อพยพเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขาและห้วยต่างๆที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่าแม่น้ำโขง

ปลาที่มีเจ้าหมู่และไม่มีเจ้าหมู่

          นักวิจัยจาวบ้านพบว่า ปลาที่มีการอพยพขึ้น-ลงจะมี ๒ ประเภทคือปลาที่มีเจ้าหมู่และไม่มีเจ้าหมู่ คำว่า เจ้าหมู่คือ ปลาที่อยู่รวมกันและอพยพเป็นฝูง เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของปลากินเนื้อ ซึ่งการอพยพเป็นฝูงของปลาที่มีเจ้าหมู่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับปลาชนิดอื่นที่ไม่มีเจ้าหมู่หรือไม่มีฝูงได้อาศัยในช่วงการอพยพด้วย
ส่วนปลาไม่มีเจ้าหมู่คือ ปลาที่อยู่ตัวเดียวไม่รวมหมู่หรือรวมฝูง ปลากลุ่มนี้จะอพยพปนไปกับปลาที่มีเจ้าหมู่ เช่น ปลาดอกตอง ปลามาง ปลาปีกเหลือง และหนามฝ้าย เป็นต้น หรืออพยพเคลื่อนย้ายพร้อมๆกันหลายชนิด

ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับการอพยพของปลา

          นักวิจัยจาวบ้านไม่เพียงแต่มีความรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาการอพยพของปลาเท่านั้น แต่ยังสามารถอธิบายการอพยพของปลาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ความรู้เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหาปลาของชาวบ้าน เพราะเป็นตัวกำหนดเวลาการจับปลา ซึ่งรวมไปถึงการเตรียมเครื่องมือไว้จับปลาด้วย
          คนหาปลาจะสังเกตธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ระดับน้ำ สีของน้ำ สัตว์ต่างๆ ที่มาพร้อมกับปลาชนิดนั้นๆ เช่น นก รวมไปถึงปลาด้วย

ปลากับนกนางนวล

          บริเวณดอนแวงหน้าวัดหาดไคร้ อำเภอเชียงของ เป็นแหล่งจับปลาบึก คนหาปลาจะรู้ว่าปลาบึกเริ่มอพยพเมื่อไหร่โดยสังเกตการณ์อพยพของนกนางนวล ก่อนที่ปลาบึกจะขึ้นมา นกนางนวลจะบินขึ้นมาก่อนล่วงหน้า บางครั้งบินมาก่อน ๑-๒ วัน หรือบางทีบินมาพร้อมกับปลาบึก หากเห็นนกนางนวล คนจับปลาบึกก็จะลงไหลมองจับปลาบึก

ปลากับสีของน้ำ

          คนหาปลาจะสังเกตสีของน้ำในการคาดการว่ามีปลาอะไรอพยพขึ้นมา เช่น การสังเกตน้ำขุ่นกับปลาเพี้ย ปลาเพี้ยน้ำขุ่นจะจับได้ในช่วงที่น้ำเริ่มขึ้นหรือน้ำขุ่นเดือนพฤษภาคม ลักษณะของปลาเพี้ยน้ำขุ่นจะต่างกับช่วงอื่นคือ สีของปลาจะออกสีดำขุ่นๆ เหมือนกับสีของน้ำที่ขุ่นข้นหลังจากที่ฝนตกชะล้างหน้าดินลงมา ปลาเพี้ยในช่วงนี้ตัวเมียจะเริ่มมีไข่และตัวผู้เริ่มสร้างน้ำเชื้อ (แอ้) จึงทำให้ปลามีเนื้อนิ่ม หวาน มัน หากใครได้กินลาบปลาเพี้ยน้ำขุ่นถือว่าได้กินลาบปลาที่อร่อยที่สุด เพราะฉะนั้นคนหาปลาจะรู้ว่าถ้าน้ำเริ่มขุ่นปลาเพี้ยจะเริ่มขึ้น

หนังสือ  “ พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง บนพรมแดนไทย-ลาวตอนบน ”
ชื่อผู้แต่ง  งานวิจัยจาวบ้าน โดย คณะนักวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น

ผลิตและจัดพิมพ์โดย  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตเครื่อข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3 ความคิดเห็น: